คณะนิเทศศาสตร์



แนวทางเศรษฐกิจอันมีเอกลักษณ์แบบจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

แนวทางเศรษฐกิจอันมีเอกลักษณ์แบบจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
 
ในปัจจุบัน เศรษฐกิจตามแนวคิดของนายสี จิ้นผิงประธานาธิบดีจีนได้รับการจับตาเป็นอันมาก หากพิจารณาจากจีดีพีโลกปี 2022 จีนมีจีดีพีเท่ากับ 19.9 ล้านล้านดอลลาร์ ตามหลังแค่สหรัฐฯ ซึ่งมีจีดีพีประมาณ 25.3 ล้านล้านดอลลาร์ นี่บ่งชี้ความสามารถของจีนที่รักษาความคงเส้นคงวาได้หลายปี เชื่อกันว่า เศรษฐกิจจีนจะโตขึ้นอีกจนล้ำหน้าสหรัฐฯ ภายในปี 2030 

จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ สังคม จีนในประเทศไทย ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ แห่งสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านได้กล่าวว่า “ความมหัศจรรย์ของเศรษฐกิจจีนอยู่ที่การเอาชนะความยากลำบากท่ามกลางเงื่อนไขรุมเร้า เพราะจีนเหมือนกับชาติอื่นตรงที่ประสบชะตากรรมเกี่ยวกับโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้จีดีพีของหลายชาติถดถอยไป 2.9% โดยเฉลี่ย จีนยังผ่านสงครามการค้าซึ่งถูกจุดมาตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐโดนัลด์ ทรัมป์และเผชิญแรงกดดันจากการต้องควบคุมจัดการโรคโควิด-19  ทว่ากลไกเศรษฐกิจจีนก็ไม่เคยสะดุด” 

ความเข้าใจเศรษฐกิจซึ่งกำกับดูแลโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจึงเป็นสิ่งสำคัญ จะช่วยให้เห็นภาพว่า จีนได้บริหารจัดการอย่างไรและชาติต่าง ๆ สามารถนำบทเรียนจากจีนไปปรับใช้ในสถานการณ์ของตัวเองได้อย่างไร ในแง่นี้ ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์  ได้ให้คำอธิบายแนวทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงไว้ว่า รูปแบบทางเศรษฐกิจของจีนถูกออกแบบมาเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทภายในและตอบโจทย์ความฝันของจีน  จีนจะเป็นเช่นนั้นได้ ต้องอาศัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอันแข็งแกร่งควบคู่กับการพัฒนาทางสังคม เทคโนโลยี และความมั่นคง

แต่จะเข้าใจพื้นฐานอันแข็งแกร่ง ต้องเข้าใจวงจรเศรษฐกิจทั่วไปเสียก่อน เนื่องจากแนวทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงมาจากการเรียนรู้ช่องโหว่ของเศรษฐกิจสากลซึ่งมักอยู่ในรูปตลาดเสรี หรือเศรษฐกิจที่เน้นกลไกตลาดและการเชื่อมโยงทางการค้า การเงิน การลงทุนโดยไม่มีอะไรกลั่นกรอง อันสามารถนำไปสู่ความรุ่งเรืองและตกต่ำอย่างสุดขีดได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดอุปสรรคแก่การพัฒนา 

เศรษฐกิจตามแนวทางของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจึงเน้นการปรับรูปแบบกิจกรรมรวมไปถึงกลไกที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ไม่ใช่เฉพาะสำหรับชาวจีน แต่สำหรับประชาคมโลกโดยรวม เพราะถ้าโลกอ่อนแอ จีนก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย เศรษฐกิจของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจึงไม่ต่างจากเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน อาศัยองค์ประกอบสำคัญบางอย่าง ได้แก่ 


1. เน้นภาคการผลิต หรือ ที่เรียกว่า “ภาคเศรษฐกิจจริง” เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเพื่อให้มีการใช้จ่ายและบริโภค แม้ภาคการเงินช่วยหล่อเลี้ยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การให้น้ำหนักแก่ภาคการเงินมากเกินพอดีจะทำให้สังคมขาดแคลนผลผลิต 

2. ทำลายภาวะรวยกระจุกจนกระจาย ดังเห็นได้จากคำประกาศนโยบายเจริญรุ่งเรืองร่วมกันในการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจและการเงินของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา หลักการคือป้องกันไม่ให้ทรัพย์สินส่วนใหญ่ของประเทศกระจุกตัวกับคนกลุ่มน้อย

3. สร้างความน่าเชื่อถือให้สกุลเงินเหรินหมินปี้ด้วยระบบมาตรฐานทองคำ เพราะที่ผ่านมาจีนพึ่งพิงดอลลาร์ในการทำกิจกรรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หากเกิดปรากฏการณ์ดอลลาร์ถูกลดความน่าเชื่อถือ สกุลเงินของจีนจะเจอปัญหา จีนจึงตัดสินใจนำเข้าทองคำโดยอนุญาตให้ธนาคารของรัฐราว 14 แห่งเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเมื่อเงินไปผูกติดกับทองคำ คู่ค้าของจีนก็จะให้ความไว้วางใจ แล้วสกุลเงินของจีนก็จะมีความแข็งแกร่งอย่างแท้จริง

4. เศรษฐกิจตามแนวทางของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเน้นการทำกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์และมีสติในการผลิตและบริโภค เห็นตัวอย่างได้จากความพยายามที่จะพัฒนาพลังงานสะอาด เช่น พลังงานไฮโดรเจน โดยจีนตั้งความหวังว่า จะสามารถผลิตพลังงานไฮโดนเจนจากพลังงานหมุนเวียนภายในปี 2030 ซึ่งจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 1-2 ล้านตันต่อปี    

5. ส่งเสริมการผลิตที่หลากหลายเพื่อป้องกันภาวะสินค้าล้นตลาด

6. ทำให้ตลาดภายในเข้มแข็ง หมายความว่า แม้ตลาดภายนอกอ่อนแอ จีนก็ยังคงอยู่ได้ด้วยการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าบริการจากชาวจีนด้วยกันเอง ข้อนี้เป็นผลมาจากการเน้นภาคเศรษฐกิจจริงร่วมกับการเรียนรู้ที่จะผลิตสินค้า/บริการใหม่ ๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการซื้อของคนในประเทศ ความเข้มแข็งของตลาดภายในถูกพิสูจน์ให้เห็นในช่วงของการใช้มาตรการควบคุมโรคระบาดที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จีดีพีของจีนก็ยังคงสูงด้วยตัวเลข 17.7 ล้านล้านดอลลาร์ด้วยอัตราเติบโต 8.1%

7. สร้างการยอมรับด้วยพัฒนาการทางนวัตกรรมและเทคโนโลยี เนื่องจากโลกอนาคตต้องอาศัยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในการขับเคลื่อน เช่น ระบบ 5จี คอมพิวเตอร์ควอนตัม ปัญญาประดิษฐ์ การค้นคว้าพลังงานทดแทน ฯลฯ ความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้จีนมีความพร้อม ยังช่วยให้จีนเป็นที่ยอมรับในหมู่พันธมิตรด้วยไม่มีชาติใดสามารถบรรลุควาสำเร็จได้โดยง่าย 

8. สร้างตลาดรองรับกับคู่ค้าทั่วโลกภายใต้แนวคิด win-win cooperation ข้อนี้เห็นได้จากการเดินสายของผู้บริหารระดับสูง มีการสร้างความร่วมมือกับชาติใหม่ ๆ ทั้งชาติขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ จีนเสนอขายสินค้าของจีนและรับซื้อสินค้าเด่นของแต่ละประเทศ ขณะเดียวกันความคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ก็ยังเดินหน้าพร้อมงานกระชับความสัมพันธ์กับสมาชิกกลุ่ม BRICS คาดกันว่า ทั้งโครงการข้างต้นและกลุ่มประเทศ BRICS จะสร้างตลาดรองรับให้แก่จีนอย่างมหาศาล 

ดร.ฐณยศยังเสริมด้วยว่า จีนพยายามเปลี่ยนจากความเด่นทางด้านปริมาณมาเป็นคุณภาพ หมายถึง จีดีพีอาจเติบโตไม่มาก แต่ตลาดของจีนมีความคงทน กิจกรรมซื้อขายเกิดขึ้นเสมอเพราะผู้เล่นต่าง ๆ ให้ความเชื่อมั่น

ประเด็นหลายอย่างอาจไม่ได้รวมอยู่ในรายการข้างต้น แต่ถ้ามองในภาพกว้าง จะพบว่า เศรษฐกิจตามแนวทางของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงไม่มีกรอบตายตัว กลับยืดหยุ่นได้ตามเหตุปัจจัย หลักการก็คือทำให้เศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง มุ่งความสร้างสรรค์ และเต็มไปด้วยความรู้เท่าทัน เพราะปัญหาเศรษฐกิจถ้าไม่เกิดจากปัจจัยภายนอกก็เริ่มจากปัจจัยภายใน การป้องกันปัญหาเหล่านี้คือที่มาของความยั่งยืน

เรียบเรียงและสัมภาษณ์โดย อาจารย์กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช