คณะนิเทศศาสตร์



คณบดีนิเทศฯ DPU แสดงทัศนะเกี่ยวกับ นโยบาย‘โควิดเป็นศูนย์’ ของจีน

中国疫情动态清零

‘โควิดเป็นศูนย์’ ของจีน เจ็บระยะสั้น แลกกับการเติบโตระยะยาว

 

นับตั้งแต่เมืองอู่ฮั่นสามารถจัดการกับโรคระบาดโควิด-19 ได้สำเร็จ มาวันนี้จีนยังคงคุมโควิดด้วยนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดูเหมือนว่าการแพร่ระบาดหลายระลอกที่ผ่านมา จีนจะสามารถจัดการโควิดได้อย่างอยู่หมัด ทว่าเมื่อต้องเผชิญกับคลื่นการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่ติดต่อได้ง่ายกว่าเดิม ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อของจีนพุ่งสูงขึ้นแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน (นับตั้งแต่การระบาดใหญ่เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดในเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจอย่างเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง ที่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จึงไม่แปลกที่จีนจะถูกตั้งคำถามจากนานาประเทศถึงการใช้มาตรการดังกล่าวว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพราะขณะนี้หลายประเทศได้เปลี่ยนไปใช้แนวทางอยู่ร่วมกับโควิดกันแล้ว

 

หากมองแบบผิวเผินเราอาจคิดว่านโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนกำลังสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งยังกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอีกด้วย แต่ถ้ามองอย่างรอบด้านจะพบว่าการที่จีนคงมาตรการดังกล่าวไว้ ไม่ใช่เพราะต้องการสวนกระแสโลก แต่ทางรัฐบาลเล็งเห็นถึงความจำเป็นบางอย่างที่จะต้องร่วมกันแบกรับความเสียหายเอาไว้ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและเปิดทางสู่การฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว และเกิดการพัฒนาในมิติต่าง ๆ อย่างมั่งคงในระยะยาว

 

มาตรการโควิดเป็นศูนย์ของจีน เกิดจากความพยายามป้องกันไม่ให้ชุมชนใดตกอยู่ในภาวะแพร่ระบาดไม่ว่าจะจากสายพันธุ์ใดก็ตาม หากพบแนวโน้มความเจ็บป่วย หน่วยงานรัฐจะประกาศปิดพื้นที่และทำการทดสอบการติดเชื้อกับประชาชน และเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังสถานที่กักกันทันที ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ที่เมืองกว่างโจวเกิดการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ทางการจีนได้ดำเนินการล็อกดาวน์ เพื่อตรวจเชื้อประชากรเกือบทั้งหมดของเมืองประมาณ 18 ล้านคน ภายใน 3 วัน เรียกได้ว่าใช้มาตรการจัดการขั้นเด็ดขาด ซึ่งนโยบายควบคุมโควิดอันเข้มงวดนี้ชี้ให้เห็นว่า สำหรับประเทศจีนที่มีประชากรจำนวนกว่า 1,400 ล้านคน สวัสดิภาพของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด หากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 และเกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก ถือเป็นเรื่องที่จีนยอมรับไม่ได้

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนในปัจจุบัน ถูกเรียกว่า “Dynamic COVID-zero” หรือโควิดเป็นศูนย์แบบไดนามิก ที่จะมีการปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ อย่างเช่นก่อนหน้านี้ ในเมืองเซินเจิ้น เมืองเสิ่นหยาง และมณฑลจี๋หลิน เมื่อเริ่มพบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน รัฐบาลจีนได้ทำการล็อกดาวน์และเร่งปูพรมตรวจหาเชื้อทันที ในขณะที่เมืองใหญ่อย่างนครเซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง ทางการจีนคำนึงถึงความเสียหายหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะในมิติด้านเศรษฐกิจ แล้วใช้แนวทางที่เข้มงวดน้อยกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ

 

แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีของเซี่ยงไฮ้ เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในเวลาอันรวดเร็ว และมีแนวโน้มแพร่กระจายไปสู่พื้นที่อื่น เนื่องจากเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองท่าสำคัญที่มีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างเมือง ทางการจีนจึงตัดสินใจใช้มาตรการการล็อกดาวน์เต็มที่ โดยประกาศห้ามไม่ให้ชาวเมืองประมาณ 25 ล้านคน ออกนอกที่พักอาศัย เว้นแต่จะเป็นการเดินทางเพื่อเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ ซึ่งทุกคนต้องรับสภาพดังกล่าวเป็นเวลานานกว่า 8 สัปดาห์ (จากที่ก่อนหน้านี้จีนสามารถจัดการควบคุมได้ภายใน 2 สัปดาห์เท่านั้น) กระทั่งถึงต้นเดือนพฤษภาคม ทางการจึงเริ่มประกาศให้ประชาชนออกนอกเคหะสถานได้ หลังจากไม่ตรวจพบกรณีการติดเชื้อเพิ่มเติมในเขตกักกันเป็นเวลา 2 วัน

 

ส่วนกรณีของปักกิ่งแม้จะพบผู้ติดเชื้อ แต่ไม่ได้มีจำนวนมากเท่ากับที่เซี่ยงไฮ้ ทางการจีนจึงไม่ได้ดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ทั้งเมืองเต็มรูปแบบ โดยพื้นที่ที่มีสถานการณ์รุนแรงจะใช้มาตรการ อาทิ หยุดให้บริการยานพาหนะสาธารณะ ปิดร้านที่ไม่จำเป็น เป็นต้น มาตรการดังกล่าวสร้างความไม่สะดวกและความเสียหายแก่ชาวบ้านและผู้ค้าอยู่บ้างก็จริง แต่เป็นการชั่วคราว เพราะรัฐบาลคำนึงถึงความเสียหายในมิติด้านเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย

 

การล็อกดาวน์ในช่วงที่ผ่านมา แม้จีนจะถูกกดดันจากหลายฝ่าย ทั้งจากต่างประเทศและชาวเมืองเอง แต่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นในนครเซี่ยงไฮ้เปิดเผยว่า หากรัฐบาลจีนไม่บังคับใช้มาตรการที่เข้มงวด อย่างเช่น การล็อกดาวน์ และตรวจหาเชื้อโควิดเป็นวงกว้าง การแพร่ระบาดของไวรัสโอมิครอนอาจทำให้จีนมีผู้ติดเชื้อชนิดแสดงอาการมากถึง 112.2 ล้านคน ผู้ป่วยใน 5.1 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตถึง 1.6 ล้านคนเลยทีเดียว เนื่องจากระดับของภูมิคุ้มกันจากการส่งเสริมการฉีดวัคซีนในเดือนมีนาคมของจีนยังไม่เพียงพอในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน อันจะนำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้าย ถึงขนาดหอผู้ป่วยหนัก (ICU) ไม่สามารถแบกรับภาระได้

 

ดังนั้น การดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจึงนับว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง อย่างไรก็ดี การล็อกดาวน์โดยเฉพาะในนครเซี่ยงไฮ้ และบางพื้นที่ของปักกิ่ง ย่อมส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากธุรกิจจำนวนไม่น้อยอาศัยโรงงานผลิตในเมือง รวมทั้งการนำเข้า-ส่งออกผ่านท่าเรือของเซี่ยงไฮ้ มาตรการโควิดเป็นศูนย์จึงไม่ต่างจากการระงับห่วงโซ่อุปทาน แม้รัฐบาลจะไม่ได้สั่งให้หยุดทำการ แต่การล็อกดาวน์ก็ทำให้คนงานไม่สามารถเดินทางไปทำหน้าที่ คนขับรถไม่สามารถขนส่งสินค้า หรือวัตถุดิบได้ ทุกอย่างจึงตกอยู่ในสภาพเหมือนถูกแช่แข็ง

 

ความเสียหายดังกล่าวทำให้ทางรัฐบาลจีนมีการเตรียมแผนสนับสนุนด้านเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ อย่างเช่นในเซี่ยงไฮ้ ได้มีการออกแผนปฏิบัติการเร่งรัดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งหมดกว่า 50 มาตรการ เช่น ออกนโยบายช่วยเหลือวิสาหกิจที่ประสบปัญหาให้สามารถเลื่อนเวลาชำระภาษี และขยายขอบเขตการลดและยกเว้นค่าเช่าบ้าน ออกนโยบายสนับสนุนให้บริษัทต่าง ๆ ฟื้นฟูการทำงาน เพิ่มอัตราการผลิต และส่งเสริมช่องทางการขนส่งโลจิสติกส์ทั้งในและต่างประเทศ มีการสนับสนุนบริษัทข้ามชาติให้ตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคและศูนย์วิจัยศึกษาทุนต่างชาติในนครเซี่ยงไฮ้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความคาดหวังและความมั่นใจของวิสากิจทุนต่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มนโยบายและมาตรการด้านการส่งเสริมการรับประกันต่าง ๆ ในด้านของต้นทุน ที่ดิน บุคลากร และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เป็นต้น โดยเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งนครปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดมากขึ้น ห้างสรรพสินค้าย่านใจกลางเมือง และสถานที่จับจ่ายใช้สอยที่ไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เริ่มทยอยเปิดให้บริการภายใต้มาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุข แม้ล่าสุดทั้งสองเมืองใหญ่จะต้องกลับมาคุมเข้มมากขึ้น เนื่องจากยังตรวจพบการแพร่ระบาดอยู่ แต่สถานการณ์กำลังดีขึ้นและใกล้จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

 

นอกจากนี้ ในปัจจุบันจีนกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับสายพันธุ์โอมิครอนโดยเฉพาะ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม และคาดว่าจะฉีดให้ประชาชนได้ในช่วงสิ้นปีนี้ รวมทั้งยังมีข่าวว่าทางการจีนเริ่มวางแผนเตรียมเปิดประเทศให้คนต่างชาติเข้ามา และนักท่องเที่ยวจีนสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ โดยจะทำเป็น Sandbox ในบางมณฑลในช่วงต้นปีหน้า จะเห็นว่าถึงแม้จีนใช้มาตรการอันเข้มข้นในการควบคุมโควิด แต่ขณะเดียวกันก็มีการดำเนินนโยบายอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

มาถึงตรงนี้ จึงพิสูจน์แล้วว่ารัฐบาลจีนจำเป็นต้องใช้แนวทาง “โควิดเป็นศูนย์แบบไดนามิก” ซึ่งเป็นมาตรการอันเข้มแข็งในการควบคุมโควิดต่อไป แม้จะต้องแบกรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ตาม เนื่องจากแนวทางนี้สอดคล้องกับสภาพของจีน คือยอมรับความเข้มงวดและใช้ต้นทุนสูงในระยะสั้น เพื่อเปิดทางให้การพัฒนาเดินหน้าในระยะยาว

 

ทั้งนี้ ผลสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของจีนที่ผ่านมา รวมทั้งตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ น่าจะเป็นสิ่งการันตีแนวทางของจีนได้เป็นอย่างดี ซึ่งในระยะยาวจะเป็นอย่างไรนั้นเราก็ต้องติดตามดูกันต่อไป ซึ่งผมมองว่าที่สุดแล้ว หากมองในระยะยาว การระบาดของโรคโควิดจะไม่กระทบต่อสถานะทางเศรษฐกิจของจีนในเวทีโลกตลอดจนแรงดึงดูดของตลาดขนาดใหญ่ของจีนจะยังคงมีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้นต่อไป

 

เรียบเรียงโดย อาจารย์กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และกรรมการบริหารบริษัทซิโน-ไทย คอมมูนิเคชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด